โภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์สำคัญอย่างไร
การเตรียมความพร้อมด้านโภชนาการก่อนตั้งครรภ์
ปัจจุบันการเตรียมความพร้อมทางด้านสารอาหารมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่กำลังจะเตรียมตัวเป็นคุณแม่จำเป็นต้องมีการเสริมสารอาหารบางชนิดตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันโรคบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เช่น โรคความผิดปกติของระบบประสาท สมอง และไขสันหลังของทารกในครรภ์ ที่เรียกว่า Neural tube defect (NTD) ซึ่งเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยการได้รับสารโฟลิก หรือ โฟเลตให้เพียงพอ (4-5 มิลลิกรัมต่อวัน) จากยา หรือนมที่มีโฟเลตสูง ในช่วง 1-3 เดือนแรกก่อนการตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์แล้ว แพทย์จะให้ทานโฟเลตต่อเนื่อง ดังนั้น โภชนาการที่ดี ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่คนเป็นแม่ควรเตรียมพร้อม
พลังงานที่ควรได้รับต่อวันสำหรับการตั้งครรภ์
- ไตรมาสที่ 1 พลังงานงานที่ต้องการเพิ่มขึ้นต่อวัน 0 แคลอรี่
- ไตรมาสที่ 2 พลังงานงานที่ต้องการเพิ่มขึ้นต่อวัน 300 แคลอรี่
- ไตรมาสที่ 3 พลังงานงานที่ต้องการเพิ่มขึ้นต่อวัน 300 แคลอรี่
สารอาหารที่จำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์พลังงานที่หญิงตั้งครรภ์ต้องการในแต่ละวันควรได้รับ ประมาณ 2,000 แคลอรี่ต่อวัน
โปรตีน มารดาและทารกในครรภ์ต้องการโปรตีนคุณภาพดีในปริมาณสูงเพื่อสร้างเซลล์และอวัยวะทั้งทารกและของมารดาควรได้รับ = 1.2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
ธาตุเหล็ก เพื่อสร้างเม็ดเลือดแดงให้เพียงพอ สำหรับระบบหมุนเวียนเลือด ของมารดา และส่งผ่านสู่ทารกในครรภ์ เพื่อเสริมการดูดซึมควรกินอาหารที่มีวิตามินซีร่วมด้วย
วิตามินซี เพิ่มภูมิต้านทานและช่วนในการดูดซึมธาตุเหล็ก การขาดวิตามินซีในหญิงตั้งครรภ์จะทำให้มีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อขณะคลอดภาวะคลอดก่อนกำหนด และภาวะครรภ์เป็นพิษได้
โฟเลต เมื่อร่างกายได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง มีผลต่อการสร้างสมอง ระบบประสาท และไขสันหลังตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ ทำให้ทารกมีโอกาสพิการแต่กำเนิด ได้แก่ ภาวะหลอดประสาทของทารกในครรภ์เปิดและอาหารปากแหว่งเพดานโหว่ โฟเลตพบปริมาณน้อยในอาหาร ผักและผลไม้ที่เป็นแหล่งอาหารที่ดีของโฟเลต ดอกกะหล่ำ ดอกและใบกุยช่าย แตงกวา มะเขือเทศ ผักตระกูลกะหล่ำ หน้อไม้ฝรั่ง แครอท ถั่วฝักยาว ผักใบเขียว องุ่น ถั่วเมล็ดแห้ง
ไอโอดีน การขาดไอโอดีนอย่างรุนแรง เป็นผลให้ทารกในครรภ์ เกิดความผิดปกติของระดับสติปัญญา การเจริญเติบโตของเซลล์สมองที่ไม่สมบูรณ์ และการพัฒนาระบบประสาทและกล้ามเนื้อบกพร่อง
ควรกินปลาทะเล 2 - 3 วันต่อสัปดาห์ ใช้เกลือเสริมไอโอดีนรวมทั้งเครื่องปรุงรสเค็มที่เสริมไอโอดี เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ้วในการปรุงอาหาร
อาหารที่ควรเลี่ยง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
- งดอาหารที่มีกลิ่นรุนแรง กลิ่นฉุด
- งดอาหารสุกๆดิบๆไม่สะอาด
- งดอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม ประเภทแอลกอฮอล์ ยาดอง เหล้า ทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
ประโยชน์ของการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์
- ช่วยป้องกันน้ำหนักขึ้นมากเกินระหว่างตั้งครรภ์
- ช่วยป้องกันภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- ช่วยลดอาการปวดหลัง
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปัสสาวะเล็ด
- ช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าหรือทำให้อาการความเครียดดีขึ้น
- ช่วยคงสุขภาพร่างกายแข็งแรง
- ช่วยป้องกันระยะการพักฟื้นและการดูแลหลังคลอดที่ฟื้นตัวนานเกินไป
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด
ข้อห้ามในการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์
- มีโรคหัวใจหรือปอดอย่างรุนแรง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- มีการอุดตันของหลอดเลือดที่ขา
- มีภาวะปากมดลูกหลวม เปิดกว้างกว่าปกติ หรือเสี่ยงต่อภาวะแท้ง
- มีตั้งครรภ์แฝดหลายคนที่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
- มีเลือดออกปากช่องคลอดใด ๆ ที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
- มีภาวะรกเกาะต่ำหลังอายุครรภ์ 26 สัปดาห์
- มีถุงน้ำคร่ำแตก
- มีภาวะครรภ์เป็นพิษหรือมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- มีภาวะทารกโตช้าในครรภ์
- มีโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โลหิตจาง โรคลมชักหรือโรคไทยรอยด์ที่ รุนแรงและควบคุมไม่ได้
- วิ่งจ๊อกกิ้ง 1 กิโลเมตร
- ขี่ม้า
- สกีน้ำ
- ดำน้ำลึกหรือกระโดดน้ำ
- ขี่จักรยานแข่งหรือขี่ในทางที่เปียก
- กีฬาที่มีการกระทบกัน เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล
- การทำซิทอัพ การโหนบาร์
ข้อควรระวังในการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์
- ควรออกกำลังกายหลังทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายไม่หักโหม ไม่ทำท่าทางที่ใช้แรงมากและกระแทก หรือกระทบกระเทือนหน้าท้อง
- หากเกิดอาการผิดปกติให้หยุดพักและปรึกษาแพทย์
- ไม่ควรออกกำลังกายจนชีพจรเร็ว ≥ 120 ครั้ง/นาที
- หากมีอาการตะคริว กล้ามเนื้อล้า ปวดกล้ามเนื้อ ควรหยุด
- ไม่ใส่เสื้อผ้ารัด
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังในที่ที่มีอากาศอบอ้าว
- หลีกเลี่ยงท่านอนหงายหรือยืนนาน