รู้ทัน..ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) รักษาได้
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS (Polycystic ovary syndrome)
“อ้วน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ฮอร์โมนเพศชายเกิน
อาการเสี่ยงว่าคุณกำลังเผชิญกับภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ”
PCOS (Polycystic ovary syndrome) หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์โดยพบได้ร้อยละ 5-10 คือกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติจากหลายระบบ โดยพบการตกไข่ที่ผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ ร่วมกับพบถุงน้ำเล็กๆจำนวนมากในรังไข่ โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด
อาการ
- ประจำเดือนมาผิดปกติ ช่วงระยะเวลาระหว่างรอบนานกว่า 35 วัน หรือมีการขาดหายของประจำเดือนต่อเนื่องมากกว่า 3 รอบ (หมายถึงในระยะเวลา 1 ปี มีรอบเดือนน้อยกว่า 8 ครั้ง) หรืออาจมีระดูออกกะปริบกะปรอยหลังจากที่มีการขาดหายของระดูหลายรอบเดือน
- มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน คือกลุ่มค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index มากกว่า 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยกลุ่มภาวะ PCOS นี้สัมพันธ์กับลักษณะเป็นอ้วนแบบลงพุง คือมีขนาดเส้นรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตร
- มีอาการแสดงออกของการมีฮอร์โมนเพศชายมาก เช่น ภาวะมีขนดกแบบเพศชาย หน้ามัน สิวขึ้นง่าย ผมร่วง ศีรษะล้าน เป็นต้น
- ภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากภาวะไข่ไม่ตก ตกไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้ผู้ป่วย PCOS มีบุตรยาก
- ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ อัลตร้าซาวด์ในอุ้งเชิงกรานจะเห็นลักษณะรังไข่จะมีถุงน้ำเล็กๆ หลายใบเรียงตัวล้อมรอบผิวนอกของรังไข่
สาเหตุของการเกิด ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางเชื้อชาติ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมหรือหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่า เกิดจากสาเหตุ ใดเป็นหลัก แต่กลไกผิดปกติหลัก คือ กลไกตกไข่ไม่สม่ำเสมอ ความผิดปกติของระดับหรือการทำงานของฮอร์โมนเพศชายเกิน และภาวะดื้อต่ออินซูลินที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตได้
ความเสี่ยงหากตรวจพบ แล้วไม่ได้รับการรักษา
มีความเสี่ยงในการเกิดเยื่อบุมดลูกหนาตัว มะเร็งเยื่อบุมดลูกได้ เนื่องจากไม่มีการหลุดลอกของเยื่อบุมดลูกออกมาเป็นประจำเดือนเหมือนสตรีที่มีประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ เสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ระดับไขมันสูงกว่าปกติ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่องอาจนำมาสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ และอัมพาต มากขึ้นในอนาคต
- กลุ่มผู้ป่วยที่ยังไม่ต้องการมีบุตร แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาฮอร์โมนเพื่อปรับให้รอบเดือนสม่ำเสมอ ลดการเกิดเยื่อบุมดลูกหนาตัว และความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุมดลูก คุมกำเนิด โดยหากใช้ฮอร์โมนรวมสามารถปรับฮอร์โมนเพศชายเกิน ช่วยลดอาการ หน้ามัน เป็นสิว ขนดก ผมร่วง เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่การพิจารณาแผนการรักษาของแพทย์ต่อผู้ป่วยเฉพาะรายนั้น
- กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตร อาจต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีบุตรยาก โดยอาจพิจารณาให้ยากลุ่มชักนำให้เกิดการตกไข่หรือใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดในรายที่ไม่สามารถใช้ยาได้ การผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้องโดยใช้เครื่องมือพิเศษจี้ไปที่ผิวของรังไข่เพื่อกระตุ้นการตกไข่
- ในผู้ป่วย PCOS ที่ตรวจโรคเบาหวาน ควรได้รับยารักษาต่อเนื่องเพื่อรักษาภาวะดื้อต่ออินซูลิน และหากพบในไขมันในเลือดสูงก็ควรได้รับการรักษาเช่นกัน
การรักษา
- ดูแลควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ใช้ยาฮอร์โมนรักษาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและไม่ควรปรับยาเอง หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งยาฮอร์โมนแต่ละชนิดก็ให้ผลการรักษาแต่ละบุคคล ดังนั้นไม่ควรปรับยาเอง
- แนะนำติดตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อประสิทธิภาพของการรักษา
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
คลินิกสูติ-นรีเวช
สถานที่
อาคาร 4 ชั้น 5
เวลาทำการ
09:00 - 17:00 น.
เบอร์ติดต่อ
055-90-9000 ต่อ 520201, 520202