Header

เทคโนโลยี Mechanical Thrombactomy รักษาโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดสมองตีบ หรือ หลอดเลือดสมองแตก ปัจจุบันแนวทางการรักษาขึ้น อยู่กับอาการเป็นหลัก เน้นการรักษาที่ตรงจุด แต่ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการรักษาโรคกระกูลนี้ ก็คือ “เวลา” เพราะ ยิ่งผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือเร็วเท่าไรหลังจากมีอาการ ก็จะยิ่งมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยหายดีหรือกลับมาเป็นปกติได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในทุกวันนี้ได้มีอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ป็นตัวช่วยทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคหลอดเลือดทางสมองที่เพิ่มโอกาสการรักษาให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ “การลากก้อนเลือด”

 

Mechanical Trombactomy คืออะไร?

Medchanical Trombactomy หนึ่งในวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโดย “การลากก้อนเลือด” หรือ ‘Clot Retrieval” เป็นนวัตกรรรมการรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดอุดตัน โดยการนำก้อนเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมองโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ เพื่อเปิดทางให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์สมองในบริเวณที่ขาดเลือดได้อีกครั้ง ทำให้สมองได้มีโอกาสฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ดีขึ้น

 

โรคหลอดเลือดสมองชนิดอุดตัน เกิดจากอะไร?

โรคหลอดเลือดสมองมี 2 ชนิด คือ หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) และหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองทั้ง 2 ชนิด ทำให้สมองขาดเลือด มีผลให้การทำหน้าที่ของสมองบริเวณนั้นสูญเสียไป ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกันมาก เช่น หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ไม่มีแรง พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปวดศีรษะ เป็นต้น

หลอดเลือดสมองชนิดอุดตัน มาจาก 2 สาเหตุ

  1. หลอดเลือดสมองมีคราบไขมันสะสม (Plaque) ที่ผนังหลอดเลือดด้านใน ทำให้เกิดความนูนหนาขึ้นของผนังหลอดเลือดด้านใน มีผลให้รูของหลอดเลือดแคบลงเรียกว่า หลอดเลือดสมองตีบ การสะสมของคราบไขมันที่ผนังหลอดเลือด จะทำให้คุณสมบัติของหลอดเลือดเปลี่ยนแปลงไป คือ ผนังหลอดเลือดเปราะ แตกง่าย ขาดความยืดหยุ่น เมื่อเกิดการปริแตกของผนังหลอดเลือด ร่างกายจะสร้างลิ่มเลือดมาเกาะ เมื่อลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ขึ้น จะทำให้หลอดเลือดอุดตันไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงสมองได้ พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
  1. สาเหตุของลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดสมองอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การที่มีลิ่มเลือดหลุดมาจากอวัยวะอื่นๆภายนอกสมอง ที่พบบ่อยคือ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจที่ทำให้การไหลเวียนของเลือดในหัวใจไม่ปกติ จึงเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ แล้วหลุดลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมองเช่น ผู้ที่เป็นโรคหัวใจแบบสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation) เป็นต้น

 

อาการโรคหลอดเลือดสมอง สังเกตได้อย่างไรบ้าง?

สำหรับแนวทางในการสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้น อาการของผู้ป่วยจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่สูญเสียหน้าที่ไปจากการขาดเลือด อาการที่พบ ได้แก่

  • ปากเบี้ยว
  • แขนขาอ่อนแรง
  • พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ บางรายอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงเร็ว พูดไม่ได้
  • แขนขาขยับไม่ได้
  • ซึมลง ไม่รู้สึกตัว
  • การหายใจผิดปกติ

ทั้งนี้ บางรายเมื่อเกิดอาการแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ทันการณ์ อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่บางรายอาจมีอาการเพียงแค่ชั่วคราวแล้วดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมงอย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีอาการหนัก เบา หรือมีอาการชั่วคราว เมื่อสังเกตพบว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางสมองและระบบประสาทโดยเร็วที่สุด

 

วินิจฉัยอย่างไร ถึงรู้ว่าใช่โรคหลอดเลือดสมอง?

ก่อนที่แพทย์จะให้การรักษาใดๆ แพทย์จะต้องวินิจฉัยให้ทราบแน่ชัดก่อนเสมอ ยิ่งกับโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมี 2 ชนิด และมีอาการที่คล้ายคลึงกัน จึงต้องยิ่งวินิจฉัยให้ละเอียด เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะแต่ละชนิดมีวิธีการรักษาแตกต่างกัน ดังนั้น แพทย์จึงต้องให้ความสำคัญกับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยมีแนวทางดังนี้

  • ทำการประเมินอาการ ซักประวัติ ระยะเวลาของการเริ่มมีอาการ
  • ซักประวัติโรคประจำตัว ประวัติการรับประทานยา ประวัติการผ่าตัด
  • ตรวจเลือด เอกชเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
  • เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

ซึ่งในขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยนี้ ทีมแพทย์ต้องทำงานอย่างเร่งด่วน รอบคอบ สอดประสานกันอย่างดี ด้วยการจัดเตรียมช่องทางลัดด่วนพิเศษ สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เรียกว่า “Stroke Fast Tract” โดยเมื่อมีการประกาศ ‘Stroke Alert” ให้ทราบทางเสียงตามสาย ทุกแผนกที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทันที

 

ทำไมผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะวิกฤตจะต้องได้รับการรักษารีบด่วน?

เนื่องจากการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีนตัน โดยปกติแล้วจะรักษาโดยให้ยาละลายลิ่มเลือด ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งทางการแพทย์ได้พิสูจน์มาแล้วว่า เมื่อใช้ยานี้อย่างถูกต้องทันท่วงที จะได้ผลดีที่สุดเมื่อให้ยาภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ แต่ยานี้จะไม่ได้ผล และเสี่ยงอันตรายหากให้ยาผู้ป่วยที่มีอาการนานเกิน 6 ชั่วโมงไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีผู้ป่วยส่วนมากมาไม่ทันเวลา

สำหรับรับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ควรเผื่อเวลาไว้สำหรับการจราจรระหว่างเดินทาง มีเวลาสำหรับแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจนพิจารณาถึงข้อบ่งชี้ และข้อห้ามของการให้ยาอย่างละเอียด เพราะยามีผลข้างเคียงที่สำคัญ ทำให้เลือดออกง่ายซึ่งต้องตรวจให้ถี่ถ้วนเพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้ป่วย

 

เมื่อไร ถึงใช้วิธี “ลากก้อนเลือดในการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง?”

สำหรับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลไม่ทันต่อการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด หรือบางรายให้ยาละลายลิ่มเลือดรักษาแล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควรเนื่องจากลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ แพทย์สามารถพิจารณาการรักษาด้วยวิธี Mechanical Trombactomy คือการ “ลากก้อนเลือด”  ซึ่งมีเวลาให้ แพทย์รักษาได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง นับจากเริ่มมีอาการ การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ด้วยวิธีลากก้อนเลือด (Clot Retrieval) ที่ว่านี้ ในอเมริกา ทำมานานเกือบ 10 ปีแล้ว สำหรับประเทศไทย เพิ่งเริ่มทำประมาณ 2 – 3 ปี เท่านั้น และการรักษาวิธีนี้ (Clot Retrieval)

ในปัจจุบันมีเฉพาะในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้น เนื่องจากแพทย์ผู้ให้การรักษาจะต้องมีทักษะเชี่ยวชาญและมีความพร้อมของอุปกรณ์ ซึ่งแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำหัตถการลากก้อนเลือดในประเทศไทยก็มีเพียงไม่กี่คนในปัจจุบัน

 

ต้องมีหมอกี่คน ในการรักษาด้วยวิธีลากก้อนเลือด?

การลากก้อนเลือด เป็นหัตถการที่ต้องอาศัย ทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของรังสีแพทย์ เฉพาะทางรังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology) ซึ่งต้องมีความรู้ ของหลอดเลือดและการเอกซเรย์พิเศษต่างๆ และต้องอาศัยการทำงานประสานกันเป็นทีมของบุคลากรอื่นๆ เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสมองและระบบประสาท วิสัญญีแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ สำหรับดูแลผู้ป่วยระหว่างการทำหัตถการและการตรวจประเมินสัญญาณชีพต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยในระหว่างการทำหัตถการ

 

ต้องใช้เครื่องมือใดบ้างในการลากก้อนเลือด?

อุปกรณ์สำคัญสำหรับหัตถการ “ลากก้อนเลือด” ได้แก่เครื่องเอกชเรย์หลอดเลือดที่มีระบบเก็บภาพที่มีรายละเอียดสูง เป็นระบบดิจิตอล สร้างภาพ 3 มิติ ทำให้แพทย์สามารถเห็นตำแหน่งของหลอดเลือดที่อุดตัน และสามารถทำการรักษาได้ตรงจุด

 

วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ด้วยการ “ลากก้อนเลือด” มีขั้นตอนในการทำดังนี้

  1. เริ่มจากวิสัญญีแพทย์ให้ยาระงับความรู้สึก หรือวางยาสลบ
  2. แพทย์เฉพาะทางทำความสะอาดผิวหนัง บริเวณขาหนีบ
  3. กรีดผิวหนังเป็นแผลขนาดเล็ก สำหรับสอดสายสวนขนาดเล็กๆ ยาวๆ ที่มีลักษณะนิ่ม ยืดหยุ่นโค้งงอได้ตามลักษณะของหลอดเลือด
  4. ใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบ โดยแพทย์ใส่สายสวนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงตำแหน่งที่ก้อนเลือดอุดตันที่หลอดเลือดในสมอง โดยเห็นได้จากภาพเอกซเรย์
  5. ใส่ขดลวดขนาดเล็กผ่านเข้าไปในสายสวนจนถึงตำแหน่งของก้อนเลือด
  6. ทำการปล่อยขดลวดเล็กๆ (Stent) ให้ค่อยๆ กางออกในลักษณะคล้ายตาข่ายหรือตะกร้อขนาดเล็ก เพื่อให้ขดลวดสามารถเกาะจับก้อนเลือดได้
  7. หลังจากนั้น แพทย์จะค่อยๆ ลากดึงขดลวดซึ่งมีก้อนเลือดเกาะติดอยู่ในส่วนปลาย ผ่านออกมาทางสายสวน
  8. ลากก้อนเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยผ่านออกมาทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบพร้อมกันทั้งก้อนเลือดและขดลวด
  9. ดึงสายสวนออกจากร่างกายผู้ป่วยทางขาหนีบ
  10. เมื่อแพทย์นำก้อนเลือด ขดลวดและสายสวนออกจากผู้ป่วยแล้ว พยาบาลจะกดห้ามเลือดที่ขาหนีบไว้

* ประมาณ 10 – 1 5 นาที จนกว่าจะแน่ใจว่าเลือดหยุดไหลออกจากแผลเล็กๆที่ขาหนีบ

* ปิดแผลด้วยผ้าก๊อสสะอาดขนาดเล็ก

* ผู้ป่วยต้องนอนราบบนเตียง ห้ามงอขาข้างที่ใส่สายสวนประมาณ 8 – 12 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์)

* พยาบาลจะตรวจวัดสัญญาณชีพเป็นระยะ และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเลือดออกจากแผล เป็นต้น ภายหลังทำหัตถการลากก้อนเลือดออกจากหลอดเลือดสมองแล้ว แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยนอนพักที่หอผู้ป่วยระยะวิกฤต เพื่อสังเกตอาการเลือดออกบริเวณแผลและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนเลือดออกในสมอง เฝ้าสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงทางสมอง ตรวจสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากประเมินแล้วว่าผู้ป่วยปลอดภัยดี แพทย์จึงจะอนุญาตย้ายให้ไปนอนพักฟื้นที่หอผู้ป่วยปกติได้

 

ดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองอุดตันอย่างไร เมื่อแพทย์ให้กลับบ้านได้?

สำหรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังได้รับอนุญาติให้กลับบ้านได้ แนะนำแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  • สิ่งสำคัญที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน คือ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดโรคช้ำขึ้นอีก ด้วยการควบคุมโรคประจำตัวของผู้ป่วย ด้วยรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจบางชนิด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบสั่นพริ้ว
  • การดูแลในเรื่องการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย งดอาหารไขมันสูง งดอาหารเค็มจัด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง งดอาหารหวานจัด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ควรเน้นการรับประทานอาหารประเภทที่มีกากใยสูง มีวิตามิน เกลือแร่สูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ธัญพืช
  • การปรับเปลี่ยนวิถีดำรงชีวิต ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์และควรผ่อนคลายความเครียด
  • หากยังมีอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หลงเหลือ เมื่อกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ควรทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง ตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ หรือบางกรณีอาจนัดหมายให้มาทำกายภาพบำบัดต่อที่โรงพยาบาล เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ช่วยให้การฟื้นฟูร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การดูแลทางด้านจิตใจ การให้กำลังใจผู้ป่วย เพื่อให้ความร่วมมือในการรักษาและการใส่ใจดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ

 

ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ปลอยภัยจากอัมพฤกษ์ อัมพาต?

ถึงแม้ การลากก้อนเลือด จะเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี และมีโอกาสสูงที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกลับมาหายดีได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้เราไม่ต้องเสี่ยงกับ อัมพฤกษ์ อัมพาต จากโรคหลอดเลือดสมอง ก็คือการดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้มีแนวทาง ดังนี้

  • ต้องเรียนรู้สัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • ไปพบแพทย์ให้ไวเมื่อมีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นแล้ว
  • ต้องปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันและควบคุมโรคที่เป็นความเสี่ยงของตนเอง
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที
  • ลดการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็ม

 



แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์

บทความที่เกี่ยวข้อง

แลปอณูชีววิทยา วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ไม่หยุดยั้งของ รพ.พิษณุเวช

ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั่วทุกมุมโลกต้องเผชิญกับภัยของไวรัสโคโรนา หรือไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของทุกคน ให้ต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังและอยากลำบาก เพราะไวรัสโควิด-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อยเลยทีเดียว

แลปอณูชีววิทยา วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ไม่หยุดยั้งของ รพ.พิษณุเวช

ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั่วทุกมุมโลกต้องเผชิญกับภัยของไวรัสโคโรนา หรือไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของทุกคน ให้ต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังและอยากลำบาก เพราะไวรัสโควิด-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อยเลยทีเดียว