Header

ตารางการรับวัคซีนสำหรับลูกน้อย

ตารางการรับวัคซีนสำหรับลูกน้อย

วัคซีนเด็ก มีอะไรบ้าง

วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแนวทางแนะนำปฏิบัติ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ เพราะเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อง่าย และอาจเกิดความรุนแรงของโรคได้ง่าย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ควรพาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนให้ครบ และตรงตามกำหนด เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก

วัคซีนสำหรับเด็กไทย

การให้วัคซีนหรือการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมีเป้าหมายหลักในการจัดการกับโรคติดต่อ ทั้งเรื่องของการป้องกัน การควบคุมโรค การกำจัด และการกวาดล้าง สำหรับวัคซีนพื้นฐานเป็นวัคซีนที่จำเป็นที่ต้องให้กับเด็กทุกคน คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกที่ไปเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เช่น รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ในส่วนของวัคซีนเสริมอาจมีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของวัคซีนที่ฉีด และสถานพยาบาลที่เข้ารับการฉีด โดยวัคซีนพื้นฐาน หรือวัคซีนหลักตามการแนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2565 ซึ่งได้ประกาศไว้ และยังคงยึดถือเป็นหลักปฏิบัติมาจนปัจจุบันนั้น ได้แก่

 

ตารางฉีดวัคซีนในเด็กไทย 2566

แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

 

อายุ(เดือน)
Age(Month)
วัคซีนจำเป็น
Obligatory Vaccines
วัคซีนทางเลือก/วัคซีนเสริม
Additional Vaccines
แรกเกิด 0
  • ตับอักเสบ บี (Hepatitis B) เข็มที่ 1
  • วัณโรคบีซีจี (B.C.G)
 
1-2
เดือน
  • ตับอักเสบบี (Hepatitis B) เข็มที่ 2
  • หากมารดาเป็นพาหะอาจเพิ่มเติมตามความจำเป็น
2, 4, 6
เดือน
  • คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ ฮิป
    (3 ครั้ง แต่ละเข็มห่างกัน 2 เดือน)
  • ตับอักเสบ บี (Hepatitis B) เข็มที่ 3 ที่อายุ 6 เดือน
  • โรต้า (Rota) 2 หรือ 3 ตามแต่ชนิด
  • นิวโมคอคคัส (Pneumococus)(IPD)
    ฉีด 4 เข็ม ห่างกัน 2, 4, 6 และ 12 เดือน
7, 8 เดือน
  • ไข้หวัดใหญ่ 2 เข็ม
  • (แต่ละเข็มห่างกัน 1 เดือน)
12, 16 เดือน
  • ไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis) เข็มที่ 1
  • หัด คางทูม หัดเยอรมัน (Measles, Mumps, Rubella) เข็มที่ 1
  • สุกไส (Chicken pox) เข็มที่ 1
  • ตับอักเสบ เอ (Hepatitis A)
    เข็มที่ 1 ฉีด 2 เข็มห่างกัน 6-12 เดือน
18 เดือน
  • คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ ฮิป (เข็มที่ 4)
 
20 เดือน ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
  • ฉีดประจำทุกๆ ปี (ปีละ 1 เข็ม)
24
เดือนขึ้นไป
  • ไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis) เข็มที่ 2
  • สุกใส (Chicken pox) เข็มที่ 2
  • ตับอักเสบ เอ (Hepatitis A) เข็มที่ 2
  • ไทฟอยด์ (Typhoid)
2 ปีครึ่ง - 6 ปี
  • หัด คางทูม หัดเยอรมัน (Mesales, Mumps, Rubella) เข็มที่ 2
  • นิวโมคอคคัส 23 สายพันธุ์ (Pneumococus)(IPD) เข็มกระตุ้น
4-6 ปี
  • คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ ฮิป (เข็มที่ 5)
 
9 ปีขึ้นไป  
  • ไข้เลือดออก 
    ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 0, 6, 12 เดือน
11-12 ปี
  • คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (Tdap)
  • เอชพีวี (HPV)
    (อายุต่ำกว่า 15 ปี 2 หรือ 3 เข็ม แล้วแต่กรณี)

 

  • วัคซีนบีซีจี BCG - วัคซีนวัณโรค จะฉีดเมื่อแรกเกิด หรือหลังการคลอด ฉีด 0.1 มล.ในชั้นผิวหนังบริเวณไหล่ซ้าย ไม่ควรฉีดที่สะโพก ถ้าไม่มีแผลเป็นที่เกิดขึ้น และไม่มีหลักฐานว่าเคยได้รับวัคซีนมาก่อน แนะนำให้ฉีดทันที ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาก่อนไม่ต้องฉีดซ้ำแม้ไม่มีแผลเป็น
  • วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี - วัคซีนตับอักเสบบี เป็นวัคซีนที่เด็กทุกคนจะได้รับหลังคลอด และต้องได้รับอย่างน้อย 3 ครั้ง และเข็มสุดท้ายต้องได้รับเมื่ออายุมากกว่า หรือเท่ากับ 6 เดือน 

ข้อแนะนำการรับวัคซีนตับอักเสบบี

  1. เด็กที่คลอดจากแม่ที่มี HBsAg เป็นลบ ให้ฉีดวัคซีน จำนวน 3 ครั้ง เข็มแรกภายใน 24 ชม. หลังคลอด เข็มที่ 2 ช่วงอายุ 1 – 2 เดือน และเข็มสุดท้ายในช่วงอายุ 6 เดือน ตามลำดับ
    • กรณีไม่ทราบผลเลือดของแม่ ควรให้วัคซีนครั้งแรกภายใน 12 ชม. หลังคลอด ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ที่อายุ 1 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับ
  2. เด็กที่คลอดจากแม่ที่มี HBsAg เป็นบวก (โดยเฉพาะ HBeAg เป็นบวกด้วย) พิจารณาให้ HBIG 0.5 มล. ภายใน 12 ชม. หลังคลอดด้วย และให้วัคซีนครั้งที่ 1 พร้อมกันโดยฉีดคนละข้างกับ HBIG
  3. กรณีเด็กได้รับ HBIG ให้ฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 1 - 2 เดือน และครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน
  4. กรณีเด็กไม่ได้รับ HBIG ควรให้วัคซีนครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 1 เดือน และครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน
  5. กรณีที่มาทราบภายหลังว่า แม่ HBsAg เป็นบวก ควรพิจารณาให้ HBIG ถ้าเด็กได้รับวัคซีนมาแล้วไม่เกิน 7 วัน
  6. ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ใช้วัคซีนรวม คอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน – ตับอักเสบบี – ฮิบ (DTP-HB-Hib) ที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน กรณีแม่มี HBsAg เป็นบวก และเด็กไม่ได้รับ HBIG ควรให้วัคซีนตับอักเสบบีแบบเดี่ยวเพิ่มตอนอายุ 1 เดือนด้วย (รวมเป็น 5 ครั้ง)
  7. เด็กที่คลอดจากแม่ที่มี HBsAg เป็นบวก ควรตรวจ HBsAg และ anti-HBs เมื่ออายุประมาณ 9 – 12 เดือน
  • วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน - เด็กจะได้รับเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน สามารถใช้วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ (DTaP) แทนชนิดเซลล์ (DTwP) ได้ทุกครั้ง ในกรณีที่ใช้ชนิดไร้เซลล์ (DTaP) ควรใช้ชนิดเดียวกันทั้งสามครั้ง
  1. วัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่ออายุ 18 เดือน อาจใช้ DTwP หรือ DTaP หรือ pentavalent (DTP-HB-Hib) ชนิดใดก็ได้
  2. อายุ 4 – 6 ปี อาจจะใช้ DTwP, DTaP หรือ Tdap (Boostrix™ หรือ Adacel™) ก็ได้
  3. อายุ 11 – 12 ปี ควรได้รับการฉีด Td หรือ TdaP (Boostagen™) ไม่ว่าจะเคยได้รับ Tdap เมื่ออายุ 4 – 6 ปี มาก่อนหรือไม่ หลังจากนั้นควรได้รับการฉีดกระตุ้นด้วย Td/Tdap ทุก 10 ปี
  4. สำหรับผู้ใหญ่ควรได้รับ Tdap หรือ TdaP 1 เข็ม ไม่ว่าจะเคยได้รับ TT หรือ Td มานานเท่าไหร่แล้วก็ตาม จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นด้วย Td/Tdap ทุก 10 ปี
  5. หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ Tdap/TdaP 1 เข็ม ที่อายุครรภ์ 27 – 36 สัปดาห์ ทุก ๆ การตั้งครรภ์
  6. ในปัจจุบันมีวัคซีน aP (Pertagen™) สำหรับผู้ที่อายุ 11 ปีขึ้นไป ที่ต้องการภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนเพียงอย่างเดียว โดยมีภูมิคุ้มกันต่อคอตีบ และบาดทะยักเพียงพอแล้ว
  • วัคซีนฮิบ Hib - วัคซีนรวมคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี ฮิบ (DTP- HB- Hib) ใช้ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน ฉีดเข็มกระตุ้นเมื่ออายุ 12-18 เดือน อาจไม่จำเป็นต้องฉีดในเด็กที่แข็งแรง ควรฉีดในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานผิดปกติ แต่ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน Hib ในเด็กภูมิคุ้มกันปกติที่อายุ 2 ปีขึ้นไป
  • วัคซีนโปลิโอ จะเป็นวัคซีนชนิดกิน (OPV) และชนิดฉีด (IPV) ให้หยอด bivarent OVP Type 1, 3 จำนวน 5 ครั้ง ร่วมกับฉีด IPV 1 ครั้ง เมื่ออายุ 4 เดือน และเมื่ออายุ 2 เดือนหากทำได้ให้ใช้ IPV แทน OPV สามารถใช้ชนิดฉีดแทนชนิดกินได้ทุกครั้ง หากใช้ชนิดฉีดอย่างเดียวโดยตลอดอาจให้เพียง 4 ครั้ง โดยงดเมื่ออายุ 18 เดือนได้
  • วัคซีนโรต้า (Rota) - ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า ที่ทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ และอาเจียนรุนแรงในทารกและเด็กเล็ก เด็กจะได้รับวัคซีนเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน วัคซีนโรต้า มี 2 ชนิด คือ
  1. ชนิด monovalent มี 2 ชนิด ได้แก่ human monovalent (Rotarix™) ให้กิน 2 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2 และ 4 เดือน และ human-bovine monovalent (Rotavac™) ให้กิน 3 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2, 4 และ 6 เดือน
  2. ชนิด human-bovine pentavalent (RotaTeq™, Rotasiil™) ให้กิน 3 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2, 4 และ 6 เดือนโดยสามารถเริ่มให้ได้ครั้งแรก เมื่ออายุ 6 – 15 สัปดาห์ และครั้งสุดท้ายอายุไม่เกิน 8 เดือน โดยแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรืออาจจะพิจารณาให้ในเด็กที่มีอายุมากกว่าที่กำหนดไว้ได้ แต่อายุต้องไม่เกิน 2 ปี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยแพทย์ควรอธิบายความเสี่ยงให้ผู้ปกครองทราบ ควรใช้วัคซีนชนิดเดียวกันจนครบ หากจำเป็นต้องใช้วัคซีนต่างชนิดกันในแต่ละครั้ง หรือไม่ทราบว่าครั้งก่อนหน้าได้รับวัคซีนชนิดอะไรมา ต้องให้วัคซีนทั้งหมด 3 ครั้ง สามารถให้วัคซีนโรต้าร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดกินได้

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้วัคซีนนี้ ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (severe combined immune deficiency: SCID) และในเด็กที่มีประวัติลำไส้กลืนกัน

  • วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน - ให้ครั้งแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน ครั้งที่สองเมื่ออายุ 18 เดือน (ในพื้นที่ที่มีการระบาดน้อยอาจเริ่มให้เข็มแรกเมื่ออายุ 12 เดือน) กรณีที่มีการระบาด หรือสัมผัสโรค ควรเริ่มฉีดวัคซีน และฉีดให้ครบโดยเร็ว ดังนี้
    • สามารถเริ่มฉีดเข็มแรก ตั้งแต่อายุ 6 – 9 เดือน ให้ฉีดซ้ำเข็ม 2 เมื่ออายุ 12 เดือน และเข็ม 3 เมื่ออายุ 18 เดือน
    • ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่อายุ 9 – 12 เดือน ให้ฉีดเข็ม 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน ถ้าได้รับ 2 เข็ม ถือว่าฉีดครบ
    • ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกหลังอายุ 12 เดือน ให้ฉีดเข็ม 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน ถ้าได้รับ 2 เข็ม ถือว่าฉีดครบ กรณีที่ต้องการควบคุมโรคระบาดของหัด อาจใช้วัคซีนหัด – หัดเยอรมัน (MR) แทนได้ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 4 ปี และผู้ใหญ่

กรณีที่ต้องการฉีดวัคซีน หัด – คางทูม – หัดเยอรมัน และอีสุกอีใส ในเวลาเดียวกัน สามารถใช้วัคซีนรวม หัด – คางทูม – หัดเยอรมัน – อีสุกอีใส (MMRV) แทนการฉีดแบบแยกเข็มได้ทุกครั้ง ในเด็กที่อายุตั้งแต่ 1 – 12 ปี การใช้วัคซีนรวม MMRV ในเด็กอายุ 12 – 23 เดือน เข็มแรกมีโอกาสที่จะเกิดอาการชักได้มากกว่าการฉีดแยกเข็ม สำหรับการฉีดวัคซีนรวม MMRV เมื่ออายุ 2 – 4 ปี พบว่ามีอาการข้างเคียงไม่ต่างกัน กรณีเคยได้วัคซีน MMR หรือ VZV มาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนรวม MMRV ห่างจากวัคซีน MMR และ VZV ครั้งก่อน อย่างน้อย 3 เดือน

  • วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live JE) - วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี มี 2 ชนิด คือ
    • วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (inactivated; JEVAC™) ฉีด 3 ครั้ง เริ่มเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป เข็มถัดไปอีก 1 – 4 สัปดาห์ และ 1 ปี ตามลำดับ 
    • วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (live JE; CD-JEVAX™ และ IMOJEV™/THAIJEV™) ให้ฉีด 2 ครั้ง เข็มแรกเมื่ออายุ 9 – 12 เดือน เข็มต่อมาอีก 12 – 24 เดือน live JE ทั้งสองชนิดสามารถใช้แทนกันได้

นอกจากนี้ยังสามารถใช้วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (live JE) ฉีดกระตุ้นในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนชนิดไม่มีชีวิต (inactivated JE) ได้ และสามารถใช้วัคซีนชนิดไม่มีชีวิต (inactivated JE) ฉีดกระตุ้นในผู้ที่เคยฉีดชนิดมีเชื้อชีวิต (live JE) ได้ โดยห่างกันอย่างน้อย 12 เดือน
สำหรับผู้ที่เคยรับวัคซีนเชื้อไม่มีชีวิตชนิด (mouse-brain derived vaccine) ครบแล้ว อาจจะพิจารณาให้วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตกระตุ้นซ้ำอีก 1 ครั้ง โดยห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 1 ปี

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza) - วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนสำคัญที่เด็กทารกควรได้รับ โดยให้ฉีดเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรง เช่น เด็กที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ โรคอ้วน (ค่าBMI มากกว่า 35) ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หญิงตั้งครรภ์ และโรคเรื้อรังอื่น ๆ เป็นต้น
  • วัคซีน HPV สำหรับเด็กหญิง - วัคซีน HPV เป็นวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก และเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ทำลายสุขภาพของผู้หญิงในปัจจุบัน การฉีดวัคซีน HPV จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ในเด็กผู้หญิง อายุตั้งแต่ 9-26 ปี นอกจากนี้วัคซีน HPV ยังสามารถฉีดในเด็กผู้ชายได้เหมือนกัน โดยจะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งองคชาต มะเร็งช่องปากและหลอดคอ มะเร็งทวารหนัก หูดที่อวัยวะเพศในผู้ชาย
    • การฉีดในเด็กผู้หญิง - แนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ในเด็กผู้หญิงอายุ 9 ปีขึ้นไป สำหรับเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ในเดือนที่ 0, 6 – 12 เดือน สำหรับหญิงอายุ 15 – 26 ปี ให้ฉีด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1 – 2 และ 6
    • การฉีดในเด็กผู้ชาย - แพทย์อาจพิจารณาให้ฉีดวัคซีน HPV เฉพาะชนิด 4 สายพันธุ์ ในช่วงอายุ 9 – 26 ปี

ประสิทธิภาพของวัคซีนจะสูงหากฉีดในผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่เคยติดเชื้อมาก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ควรได้รับวัคซีนเพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อใหม่ และการติดโรคซ้ำได้

 

การเตรียมตัวก่อนพาลูกไปฉีดวัคซีน

  1. สมุดบันทึกการรับวัคซีน ควรนำสมุดบันทึกติดตัวมาด้วยทุกครั้ง

  2. ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง หากลูกมีอาการแพ้ยา หรือแพ้อาหาร เพราะวัคซีนบางตัวมีผลต่ออาการแพ้ได้

  3. สามารถเลื่อนการรับวัคซีนออกไปได้ หากลูกไม่สบาย มีไข้ขึ้นสูง สามารถเลื่อนออกไปจนกว่าจะหายดี

  4. หากลืม หรือมีเหตุจำเป็นให้ไม่สามารถมาตามนัดได้ ควรแจ้งแพทย์ และสามารถพาลูกมารับวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ครบโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่

  5. สังเกตอาการแพ้ อาการข้างเคียง ของลูก อย่างน้อย 30 นาทีหลังรับวัคซีน จึงกลับบ้านได้ 

 

เด็กที่มารับวัคซีนล่าช้า ควรทำอย่างไร

  • วัคซีนทุกชนิด ถ้าไม่สามารถเริ่มให้ตามกำหนดได้ ก็เริ่มให้ทันทีที่พบครั้งแรกสำหรับวัคซีนที่ต้องให้มากกว่า 1 ครั้ง หากเด็กมารับวัคซีนครั้งต่อไปล่าช้า สามารถให้วัคซีนครั้งต่อไปได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นครั้งที่ 1 ใหม่
  • กรณีให้วัคซีนแก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วนหรือล่าช้า เด็กจะได้รับวัคซีนตามกำหนดครบภายในระยะเวลา 1 ปี จากนั้นให้วัคซีนต่อเนื่องตามที่กำหนดในการให้วัคซีนปกติ

 

โรคที่ต้องมีการรับวัคซีนเพิ่มเติม

  • วัคซีนโรต้า (Rota) - ตอนนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรจุไว้ในวัคซีนพื้นฐานของเด็กแล้ว สามารถขอรับวัคซีนหลักได้ฟรี โดยให้หยอดตามตารางวัคซีนเด็ก ที่ช่วงอายุ 2, 4 และ 6 เดือน หยอดครั้งแรกอายุ 6-15 สัปดาห์ ส่วนครั้งสุดท้าย ให้หยอดในช่วงที่ไม่เกิน 8 เดือน แต่ละครั้งต้องห่างกันมากกว่า 1 เดือน สำหรับการรับวัคซีนล่าช้าสามรถทำได้ แต่องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำว่า อายุไม่ควรเกิน 2 ปี
  • วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Vaccine / Chickenpox Vaccine) - เป็นวัคซีนเสริม สามารถให้ได้ที่อายุน้อยสุด 1 ปี แนะนำควรได้รับวัคซีนเข็มแรกในช่วง 12-18 เดือน จะดีที่สุด ส่วนเข็ม 2 ควรให้เมื่ออายุ 2-4 ปี อาจจะฉีดก่อน 4 ปีได้ ถ้าหากช่วงนั้นโรคสุกอีใสกำลังระบาด สำหรับเด็กอายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป ไปจนถึงผู้ใหญ่ ถ้าหากไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ให้ฉีด 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างกัน 1 เดือน
  • วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก CYD-TDV (Chimeric Yellow Fever Dengue Tetravalent Dengue Vaccine) - ถือเป็นอีกวัคซีนเสริม สามารถฉีดได้ช่วงอายุ 9-45 ปี จำนวนทั้งหมด 3 เข็ม สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน ให้ฉีดตอน 0, 6 และ 12 เดือน ส่วนสำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน ควรตรวจเลือดก่อนให้วัคซีน

ข้อมูลอ้างอิงจาก : สมาคมโรคติดเชื้อเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย



แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์