การผ่าตัดดามกระดูกหัก แบบผ่าตัดแผลเล็ก ดีอย่างไร
การผ่าตัดดามกระดูกหัก แบบผ่าตัดแผลเล็ก
กระดูก คือองค์ประกอบที่เป็นส่วนสำคัญกับร่างกายของเรา ทำหน้าที่รับน้ำหนัก ส่งถ่ายน้ำหนัก ช่วยทรงตัวในขณะนอน ยืน เดิน นอกจากนี้กระดูกยังทำหน้าที่เป็นที่ยึดเกาะของเอ็นและกล้ามเนื้อและป้องกันอวัยวะสำคัญต่าง ๆ หากกระดูกได้รับการกระทบกระแทกด้วยความรุนแรง ก็จะมีโอกาสเกิด “ภาวะกระดูกหัก” ได้
กลไกการเกิดภาวะกระดูกหัก เกิดจากแรงกระทำต่อกระดูก ที่เกินกว่ากระดูกจะทนหรือรับไหว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้กระดูกหัก นั้นจะมาจากอุบัติเหตุ การเกิดกระดูกหักนั้น แบ่งได้เป็น 2 แบบคือ
- อุบัติเหตุรุนแรง แบบที่มีแรงกระแทกมากพอที่จะทำให้กระดูกแตกหรือหักได้ เช่นอุบัติเหตุจราจร ตกที่สูง หรือถูกกระแทกด้วยของแข็งอย่างแรง ในกรณีนี้มักมีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบ ๆ กระดูกที่หัก เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาทบาดเจ็บร่วมด้วย
- อุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง แต่กระดูกเปราะบาง ไม่แข็งแรงอยู่เดิม เช่นเป็นโรคกระดูกพรุนที่ไม่ได้รับการรักษา ในกรณีนี้กระดูกสามารถหักได้แม้มีแรงกระทำที่เล็กน้อย เช่นกระดูกสะโพก หรือข้อมือหัก จากการพลัดหกล้มเบา ๆ เท่านั้นได้
โดยทั้งสองกรณี จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด แขนขาผิดรูป จนไม่สามารถดำเนินกิจวัตรตามปกติได้ ในบางรายอาจทำให้ไม่สามารถลุกยืน หรือนั่งได้ ทำให้ติดเตียง และเกิดผลแทรกซ้อนตามมาได้มาก
การรักษานอกจากจะหวังผลให้กระดูกที่หักเชื่อมติดกัน ยังหวังผลให้สามารถลุกนั่ง ยืนเดินได้เร็ว กระดูกเชื่อมติดดี ไม่มีความผิดรูปของแขนขา และก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง และความเจ็บปวดจากการผ่าตัดให้น้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เช่น การใส่เฝือก การใส่อุปกรณ์พยุง
- การรักษาแบบผ่าตัด ดามโลหะ ซึ่งมีหลากหลายชนิด ทั้งแบบแผ่นเหล็กดามด้านข้างกระดูก (Plate and screw) และแบบดามในแกนกลางของกระดูก (Intramedullary nail) ซึ่งการเลือกใช้แบบใดนั้น ขึ้นกับการพิจารณาความเหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย เป็นกรณี ๆ ไป
การผ่าตัดแบบดามโลหะด้านข้างกระดูก (Plate and screw) นั้นได้มีการพัฒนาเทคนิค และเครื่องมือที่ใช้ผ่าตัดมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ต้องเปิดบาดแผลยาวตลอดแนวของกระดูกที่หัก เพื่อจัดเรียงกระดูก และดามโลหะ ปัจจุบันสามารถจัดเรียงกระดูกได้โดยใช้เครื่อง X-Ray ในห้องผ่าตัดช่วย ทำให้ไม่ต้องเปิดแผลยาว และสามารถทำการดามโลหะได้ด้วยการใช้เครื่องมือพิเศษบางอย่างช่วย โดยเรียกวิธีการผ่าตัดแบบนี้ว่า MIPO (Minimally Invasive Plating Osteosynthesis) technique
ในรูปตัวอย่าง เป็นเคสผู้ชาย อายุ 38 ปี ประสบอุบัติเหตุจราจร มีกระดูกต้นแขนซ้ายหัก ผิดรูป ตำแหน่งที่หัก แตกออกเป็นหลายชิ้นและยาวประมาณ ⅓ ของความยาวแขน ในกรณีนี้เราเลือกวิธีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก จะเปิดแผลเฉพาะที่จำเป็น ร่วมกับการจัดเรียงกระดูกโดยใช้เครื่อง X-Ray ช่วย หลังจากนั้นก็ดามโลหะดามกระดูกแบบพิเศษ (Locking Compression Plate)
ดังภาพที่แสดง จะเปรียบเทียบขนาดของแผลผ่าตัด หากผ่าตัดด้วยการผ่าตัดแบบปกติ จะมีขนาดบาดแผลยาวประมาณเท่ากับเส้นประสีเหลือง ทำการเลาะเนื้อเยื่อรอบ ๆ บริเวณที่หักเป็นบริเวณกว้าง เพื่อจัดเรียงกระดูกก่อนดามโลหะ ซึ่งการเลาะเนื้อเยื่อมากเกินไป จะทำให้กระดูกเชื่อมติดยากขึ้น กรณีทีผ่าตัดแบบแผลเล็ก จะมีขนาดบาดแผลประมาณเท่ากับในวงกลมสีเขียว ซึ่งทำให้ไม่ต้องเลาะเนื้อเยื่อรอบ ๆ กระดูกออก มีความบาดเจ็บน้อย และทำให้กระดูกเชื่อมติดได้เร็วกว่า
ตารางเปรียบเทียบการผ่าตัด
รายละเอียด | การผ่าตัดแบบแผลเล็ก | การผ่าตัดแบบแผลปกติ |
---|---|---|
1) ขนาดแผล | เล็กกว่า | ใหญ่กว่า |
2) ความเจ็บปวด | น้อยกว่า | มากกว่า |
3) การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณที่ผ่าตัด | น้อยกว่า | มากกว่า |
4) การหาย (การเชื่อมติดกันของกระดูกที่หัก) | เท่ากัน หรือดีกว่า | เท่ากัน หรือน้อยกว่า |
5) ระยะเวลาของการผ่าตัด (+ระยะเวลาการดมยาสลบ) | เท่ากันหรือแนวโน้มมากกว่า (ขึ้นกับหลายปัจจัย) |
เท่ากันหรือแนวโน้มมากกว่า (ขึ้นกับหลายปัจจัย) |
6) ปริมาณรังสี X-Ray ที่ได้รับขณะทำการผ่าตัด | มากกว่า | น้อยกว่า |
7) ค่าใช้จ่าย | เท่ากันหรือแนวโน้มมากกว่า (ขึ้นกับหลายปัจจัย) |
เท่ากันหรือแนวโน้มน้อยกว่า (ขึ้นกับหลายปัจจัย) |
8) ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด | ||
การติดเชื้อ | น้อยกว่า | มากกว่า |
หลอดเลือด-เส้นประสาทบาดเจ็บ | น้อยกว่า | มากกว่า |
การเสียเลือด | น้อยกว่า | มากกว่า |
กระดูกไม่ติด | น้อยกว่า | มากกว่า |
กระดูกเชื่อมติดแบบผิดรูป | เท่ากัน หรือแนวโน้มมากกว่า (ขึ้นกับหลายปัจจัย) |
เท่ากัน หรือแนวโน้มน้อยกว่า (ขึ้นกับหลายปัจจัย) |