การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram หรือ CAG)
การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram หรือ CAG)
บางทีเรียก “การฉีดสี” เป็นการสอดสายสวนผ่านหลอดเลือดแดงแล้วฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจวินิจฉัยการอุดตันและการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ หากพบความผิดปกติสามารถทำการรักษาต่อด้วยการทำบอลลูนและใส่ขดลวด
ข้อบ่งชี้ในการตรวจ
- ผู้ป่วยที่สงสัยมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ เช่น เหนื่อย แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงที่ไม่ตอบสนองการรักษาด้วยยา
- ตรวจเพื่อเตรียมการผ่าตัดหัวใจ
การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจผ่านทางขาและแขน
การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ ทำได้ 2 จุดคือ
1) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจบริเวณขาหนีบ (Femoral artery)
- ก่อนฉีดสีหัวใจจะใช้ยาชาเฉพาะที่ ไม่ใช้ยาสลบ ไม่ต้องผ่าตัด ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30-60 นาที
- หลังจากตรวจเสร็จจะดึงสายออก กดบริเวณขาหนีบประมาณ 15 นาที ไม่ต้องเย็บแผล
- ให้ผู้ป่วยนอนราบ ห้ามงอขาหนีบ เป็นเวลา 6-10 ชั่วโมง และไม่สามารถลุกนั่งหรือเดินได้ในทันที
2) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจผ่านบริเวณข้อมือ (Radial artery)
- เป็นการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือ
- ใช้ระยะเวลาพักฟื้น 4-8 ชั่วโมง
- หลังจากทำหัตถการสามารถลุกนั่งหรือยืนได้ทันที
- จะมีสายรัดข้อมือ (TR band) ใส่ไว้ แต่ไม่นานก็สามารถถอดออกได้
ขั้นตอนการเตรียมตรวจฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- เตรียมเอกสารสิทธิ์ในการรักษาให้เรียบร้อย เซ็นเอกสารแสดงความยินยอมการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- นำยาเดิมมา รพ.ด้วย เช้าวันตรวจให้รับประทานยาตามปกติ (แต่ยังงดน้ำและอาหารอยู่) ยกเว้น ยาเบาหวาน
- มานอน รพ. 1 วัน ก่อนฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ เพื่อตรวจเลือด เอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
- ควรมีญาติมาด้วย เพื่อร่วมฟังคำอธิบายแผนการรักษาจากแพทย์
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4 ชม. ก่อนตรวจ
- ทำความสะอาดร่างกาย สระผม โกนขนบริเวณขาหนีบ หรือแขน
- ปัสสาวะก่อนเข้าห้องฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินชีพจรส่วนปลาย (หลังเท้า) และข้อมือ ให้สารน้ำ ตามแผนการรักษาของแพทย์ อาจฉีดยาป้องกันการแพ้ยา สารทึบแสง และอื่น ๆ
- ไม่ควรนำของมีค่า ไม่ใส่ชุดชั้นใน ฟันปลอม แว่นตา รองเท้า เข้าไปในห้องฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
การปฏิบัติตัวหลังจากฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- หลังจากฉีดสีหลอดเลือดหัวใจเสร็จแล้ว ผู้ป่วยจะกลับมาพักฟื้นที่ห้องพักผู้ป่วย เพื่อสังเกตอาการ
- ไม่ควรลุกจากเตียง และไม่งอขาข้างที่ฉีดสีหลอดเลือด อย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมง (กรณีฉีดสีหลอดเลือดหัวใจบริเวณขาหนีบ)
- หากบริเวณแผลมีอาการบวม หรือขาข้างที่ฉีดสีหลอดเลือดซีดหรือเย็นกว่าปกติควรแจ้งพยาบาลทราบ
- ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน สามารถรับประทานอาหารได้ตามความเหมาะสม
- ถ้าปวดแผล แพทย์จะให้รับประทานยาแก้ปวด
- หากไม่มีปัญหาหลังจากการตรวจ สามารถกลับบ้านในวันรุ่งขึ้น โดยให้รับประทานยาเดิมต่อไปจนถึงวันนัด หรืออาจมีการสั่งยาใหม่เพิ่มตามความเหมาะสม
- ควรมีญาติมารับกลับบ้านเพื่อความปลอดภัย (ผู้ป่วยไม่ควรเคลื่อนไหวบริเวณแผลมากเกินไป)
- หลังจากฉีดสีหัวใจ 5-7 วัน ไม่ควรทำงานหนักเพราะอาจทำให้แผลบวมได้
การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการทำบอลลูนและใส่ขดลวด
(Percutaneous Transluminal Coronary Angioplasty หรือ PTCA & Stent)
เป็นการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ง่ายและสะดวกเพราะไม่ต้องผ่าตัด เมื่อแพทย์วินิจฉัยจากการฉีดสีพบมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบแคบ แพทย์จะรักษาโดยการสอดสายเข้าไปยังหลอดเลือดหัวใจบริเวณที่ตีบแคบหรือตัน แล้วขยายด้วยบอลลูน หรือใส่ "ขดลวด" (Stent) เพื่อให้หลอดเลือดขยายจนเลือดสามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อีกครั้ง
การใส่ "ขดลวด" (Stent)
ในกรณีหลอดเลือดที่ตีบยังขยายได้ไม่กว้างพอ แพทย์จะใส่ขดลวดเล็ก ๆ (Stent) เข้าไปยึดติดกับผนังหลอดเลือด หรืออาจใช้ขดลวดที่เคลือบด้วยยาแทนขดลวดธรรมดา ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายหลอดเลือดแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการกลับมาตีบซ้ำได้อีกด้วย
ข้อดีของการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด
- มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัดบายพาส เพราะไม่ต้องผ่าตัดและดมยาสลบ
- นอนพักในโรงพยาบาลแค่ 1 – 2 วัน
ภาวะแทรกซ้อนของการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด
ภาวะแทรกซ้อนของการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ (พบได้ประมาณ 0.001%)
กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาจต้องผ่าตัดเพื่อตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ
- แพ้สารทึบรังสีรุนแรง
- มีเลือดออกบริเวณที่ใส่สาย
- หัวใจล้มเหลว
- ไตวาย
- อัมพาต